วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หลักการสำคัญของระบบเศรษฐกิจแต่ละระบบ


หลักการสำคัญของระบบเศรษฐกิจแต่ละระบบ
หลักการสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
1.             การถือสิทธิ์ในทรัพยากร ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม หรือทุนนิยมยอมรับเรื่องกรรมสิทธิ์ คือ ยอมให้หน่วยธุรกิจหรือเอกชนเป็นเจ้าของทรัพย์สินและปัจจัยการผลิตได้ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เหล่านี้จึงมีสิทธิเสรีภาพในการจัดกระทำใดๆ กับทรัพย์ของตนก็ได้
2.             เสรีภาพในการประกอบการ ทั้งปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคลที่เป็นองค์การหรือหน่วยธุรกิจ ต่างมีเสรีภาพอย่างเต็มเปี่ยมในการประกอบการใดๆ เพื่อจัดดำเนินการกับปัจจัยการผลิตและทรัพย์สินของตนได้อย่างอิสระ ปราศจากการบังคับควบคุมจากสิ่งใดทั้งสิ้น
3.             กำไรเป็นเครื่องจูงใจ ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรี กำไรซึ่งเป็นส่วนของผลได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญในการจูงใจให้หน่วยธุรกิจผู้ผลิตทำการผลิต โดยมุ่งนำเทคนิคใหม่ๆ ที่มาช่วยลดต้นทุนการผลิตมาใช้ในการดำเนินการ เพื่อที่จะได้กำไรสูงสุด ส่วนผู้บริโภคจะยึดเกณฑ์การเลือกบริโภคสินค้าและบริการที่จะนำความพอใจสูงสุด ด้วยการจ่ายเงินน้อยที่สุด โดยทำการเปรียบเทียบความต้องการของตนเองจากบรรดาสินค้าชนิดค่างๆ
4.             กลไกของราคา ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีใช้ราคาเป็นตัวตัดสินปัญหาพื้นฐานด้านการผลิต คือ ผู้ผลิตตัดสินใจว่าจะผลิตอะไร เป็นจำนวนเท่าใด โดยดูแนวโน้มความต้องการของผู้จ่ายเงินซื้อสินค้าชนิดต่างๆ และดูระดับราคาสินค้าที่ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายซื้อ ถ้าผู้บริโภคต้องการสินค้าชนิดใดมากก็จะใช้เงินซื้อสินค้านั้นมาก แม้ราคาจะสูงก็ยังจะซื้ออยู่ เมื่อเป็นดงนั้นผู้ผลิตก็จะทุ่มทุนกำลังการผลิต ผลิตสินค้าชนิดนั้น เพราะแน่ใจว่าขายได้แน่นอน วิธีดูแนวโน้มของราคาและพฤติกรรมของผู้บริโภคนี้เองเป็นตัวกำหนดที่ผู้ผลิตใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะผลิตอะไร ในปริมาณเท่าใด ราคาในระบบเศรษฐกิจเสรีจึงทำหน้าที่บ่งชี้และควบคุมการทำงานภายในระบบเศรษฐกิจจนกล่าวกันว่า ราคาทำหน้าที่แทนผู้บริโภค ชี้ทางให้ผู้ผลิตผลิตเฉพาะสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ
5.             บทบาทของรัฐ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี รัฐจะไม่มีบทบาทในทางเศรษฐกิจเลย รัฐทำหน้าที่เพียงด้านความยุติธรรมและป้องกันประเทศ โดยที่รัฐบาลจะเป็นฝ่ายให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่เอกชนหรือผู้ผลิตสินค้าและบริการ ดังเช่น อดัม สมิธ ได้กำหนดและวางหน้าที่บางอย่างแก่รัฐ ดังนี้  การป้องกันประเทศจากการรุกรานโดยใช้กำลัง ไม่ว่ารูปแบบใดๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ  การคุ้มครองมิให้พลเมืองได้รับความอยุติธรรม หรือการกดขี่ข่มเหงจากการกระทำของพลเมืองด้วยกันเอง  การสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชน

หลักการสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
1.             กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นขององค์การหรือหน่วยงานสาธารณะ (คือรัฐบาลและองค์การบริหารต่างๆ) ทั้งนี้เพื่อให้กิจกรรมผลิตสำคัญที่มีขนาดใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมดำเนินการในวิถีทางที่จะยังผลประโยชน์แก่ส่วนรวม
2.             รัฐเป็นผู้ดำเนินการกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของชาติทั้งด้านการผลิตและการจำหน่าย ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติเป็นงานหน้าที่ของรัฐ โดยมีเป้าหมายให้บรรลุแผนเศรษฐกิจรวมของชาติ เพื่อยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
หลักการสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบผสม
1.             เอกชนและรัฐบาลมีส่วนร่วมกันในการวางแผนเศรษฐกิจของประเทศว่าจะเป็นการผลิตสินค้าและบริการอะไร ปริมาณมากน้อยเท่าใด และการกระจายสินค้าและบริการที่ผลิตได้ไปสู่ใครอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการร่วมมือกันทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล
2.             ทั้งเอกชนและรัฐบาลสามารถจะเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิตสินค้าและบริการอย่างเสรี แต่อาจมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการผลิตสินค้าและบริการบางประเภทที่รัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่าหากปล่อยให้เอกชนดำเนินงานอาจไม่ปลอดภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือเอกชนอยู่ในฐานะที่เหมาะสมซึ่งจะดำเนินงานได้เพราะอาจจะขาดแคลนเงินทุน ขาดเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ กิจกรรมดังกล่าวนี้ เช่น กิจกรรมสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การรักษาความปลอดภัย การป้องกันประเทศ เป็นต้น
3.             กลไกราคายังเป็นสิ่งที่สำคัญในการกำหนดราคาสินค้าและบริการต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจแบบผสมนี้ แต่รัฐบาลยังมีอำนาจในการเข้าไปแทรกแซงภาคเอกชนเพื่อกำหนดราคาสินค้าให้มีเสถียรภาพและเกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค


4.             รัฐจะคอยให้ความคุ้มครองและความช่วยเหลือ ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในภาคเอกชนด้วยการสร้างพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การสร้างถนน สะพาน สนามบิน ฯลฯ ไว้คอยอำนวยประโยชน์ต่อเอกชนในการดำเนินธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น